เกษตรกรเลี้ยงหมูระทม โรคหมูถล่มผลผลิตลดกว่า 30% สังเวยแล้ว 3 แสนตัว แถมต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่ม ถูกบีบขายราคาแค่ กก.ละ 80 บาท อ่วมขาดทุนสะสมกว่า 3 ปี
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู กำลังเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่าง ทั้งปัญหาน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายแก่ฟาร์มเลี้ยงหมูในหลายพื้นที่ และยังมีโรคระบาด PRRS หรือโรคเพิร์ส ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้แม่พันธุ์หมูเสียหายไปมากกว่า 300,000 ตัว ส่งผลให้ฟาร์มหมูขุนได้รับความเสียหายไป 30% ทั้งเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่
อีกทั้งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การบริโภคเนื้อหมูลดลง จำนวนนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาท่องเที่ยวหยุดชะงักทำให้การบริโภคทั้งของผู้บริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวน้อยลงตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน เกษตรกรทุกคนต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นแทบทุกตัว โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ปรับเพิ่มเป็น 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กากถั่วเหลือง จากราคา 17 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 21 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงปลายข้าวที่ขณะนี้ราคาขึ้นไปถึงกระสอบละ 1,100 บาทแล้ว
ขณะที่ต้องมีภาระในการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity เพื่อการป้องกันโรคในสุกรที่เข้มงวด ทำให้จำเป็นต้องใช้ต้นทุนการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นกว่า 300-400 บาทต่อตัว นอกจากนี้ ยังต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน ซึ่งต้องปรับตัวให้พร้อมกับระบบนี้ ที่จำเป็นต้องใช้ทุนอีกเป็นจำนวนมาก
“สิ่งที่เกษตรกรทุกคนอยากร้องขอคือ ขอผู้บริโภคเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรจะขายหมูได้ราคาดีมีกำไร ปัจจุบันนี้ราคาหมูเป็นที่เกษตรกรขายได้ยังไม่คุ้มกับต้นทุนเสียด้วยซ้ำ เพราะต้นทุนถีบตัวสูงขึ้นไปมากกว่ากิโลกรัมละ 80.03 บาทแล้ว ยังไม่นับภาวะขาดทุนสะสมที่ต้องเผชิญมาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3 ปีที่ผ่านมา วันนี้คนเลี้ยงหมูพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือกันเอง เพื่อประคองอาชีพให้ผ่านพ้นวิกฤติให้ได้ ขอเพียงผู้บริโภคและภาครัฐเข้าใจกลไกตลาดที่เกิดขึ้นจริง และจนถึงตอนนี้ราคาขายจริงหน้าฟาร์มก็ยังไม่เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว
คาดว่าปี 2565 เกษตรกรจึงจะกลับมาเข้าเลี้ยงสุกรใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่คนเลี้ยงตัดสินใจชะลอการเลี้ยง หรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มการผลิตของฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งจากภาวะโรค PRRS รวมถึงรอดูสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูจะกลับมาเป็นปกติ และผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมูได้ 100%